สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๘  ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และ
(ก) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ
(ข) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหาย และผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ
ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้ จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร คือ
(๑) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑๗ มาตรา ๒๑๘ มาตรา ๒๒๑ ถึงมาตรา ๒๒๓  ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับมาตรา ๒๒๐ วรรคแรก และมาตรา ๒๒๔ มาตรา ๒๒๖ มาตรา ๒๒๘ ถึงมาตรา ๒๓๒ มาตรา ๒๓๗ และมาตรา ๒๓๓ ถึงมาตรา ๒๓๖  ทั้งนี้ เฉพาะเมื่อเป็นกรณีต้องระวางโทษตามมาตรา ๒๓๘
(๒) ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๔ มาตรา ๒๖๕ มาตรา ๒๖๖(๑) และ (๒) มาตรา ๒๖๘  ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับมาตรา ๒๖๗ และมาตรา ๒๖๙
(๒/๑) ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๙/๑ ถึงมาตรา ๒๖๙/๗
(๒/๒) ความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทางตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๙/๘ ถึงมาตรา ๒๖๙/๑๕
(๓) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๖ มาตรา ๒๘๐ และมาตรา ๒๘๕  ทั้งนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับมาตรา ๒๗๖
(๔) ความผิดต่อชีวิต ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๘ ถึงมาตรา ๒๙๐
(๕) ความผิดต่อร่างกาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๕ ถึงมาตรา ๒๙๘
(๖) ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บหรือคนชรา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๖ ถึงมาตรา ๓๐๘
(๗) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๙ มาตรา ๓๑๐ มาตรา ๓๑๒ ถึงมาตรา ๓๑๕ และมาตรา ๓๑๗ ถึงมาตรา ๓๒๐
(๘) ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๔ ถึงมาตรา ๓๓๖
(๙) ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๗ ถึงมาตรา ๓๔๐
(๑๐) ความผิดฐานฉ้อโกง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๔๑ ถึงมาตรา ๓๔๔ มาตรา ๓๔๖ และมาตรา ๓๔๗
(๑๑) ความผิดฐานยักยอก ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕๒ ถึงมาตรา ๓๕๔
(๑๒) ความผิดฐานรับของโจร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕๗
(๑๓) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕๘ ถึงมาตรา ๓๖๐

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6516/2537 ความผิดเกิดขึ้นในทะเลหลวง นอกราชอาณาจักรไทย ศาลไทยจะลงโทษผู้กระทำผิดที่เป็นคนไทยในข้อหาความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 8(4) ได้ต่อเมื่อผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 8(ก) แต่คดีนี้ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าผู้ตายซึ่งถือว่าเป็นผู้เสียหายเป็นใครบ้าง และไม่ปรากฏว่าจะมีผู้ใดซึ่งสามารถจัดการแทนผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(2)ได้ ดำเนินการร้องขอให้ศาลไทยลงโทษ ที่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ขอให้ลงโทษก็เฉพาะผู้เสียหายทั้งสี่ที่ถูกปล้นทรัพย์และพยายามฆ่าเท่านั้น ฉะนั้น จึงลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นไม่ได้ คงลงโทษได้เฉพาะข้อหาปล้นทรัพย์และพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่ซึ่งผู้เสียหายทั้งสี่ได้ร้องทุกข์ขอให้ลงโทษจำเลยแล้วเท่านั้น โจทก์บรรยายฟ้องข้อหาปล้นทรัพย์ไว้ในข้อ 1 ก. แยกต่างหากจากข้อหาฆ่าและพยายามฆ่าซึ่งอยู่ในข้อ 1 ข. เพียงว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้มีดและขวานเป็นอาวุธในการปล้นทรัพย์โดยใช้เรือยนต์ซึ่งใช้ในการประมงเป็นยานพาหนะเท่านั้น ไม่ได้บรรยายว่าในการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายด้วยถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยดังกล่าว ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคท้าย ได้เพราะเป็นการเกินคำขอที่โจทก์กล่าวในฟ้องไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 คงลงโทษจำเลยได้เพียงฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธและใช้ยานพาหนะเพื่อการทำผิดเท่านั้น หลังจากที่จำเลยกับพวกปล้นทรัพย์ได้แล้ว ได้ถอยเรือไปอยู่ห่างจากเรือของผู้เสียหายทั้งสี่กับพวกประมาณ 20 เมตร เพื่อรอดูเรือประมงลำที่ 3 และลำที่ 4 เข้ามาเทียบกับเรือผู้เสียหายทั้งสี่กับพวกแล้วลูกเรือประมงลำที่ 3 ขึ้นไปพาพวกของผู้เสียหายทั้งสี่ที่เป็นหญิง 6 คน ขึ้นไปบนเรือประมงลำที่ 3 เสร็จแล้วเรือประมงลำที่ 3และลำที่ 4 จึงแล่นออกไป หลังจากนั้นจำเลยกับพวกขับเรือประมงพุ่งเข้าชนเรือผู้เสียหายทั้งสี่กับพวกจนมีพวกของผู้เสียหายตกทะเลหายไปประมาณ 20 คน นั้น ยังอยู่ในช่วงแห่งการปล้นทรัพย์ เพราะเป็นเวลาใกล้ชิดต่อเนื่องจากการได้ทรัพย์และพาเอาทรัพย์ที่ปล้นได้ไปเจตนาที่จำเลยกับพวกต้องการให้ผู้เสียหายกับพวกถึงแก่ความตายก็เพื่อปกปิดการที่ตนกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้นเอง การพยายามฆ่าผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกับการปล้นทรัพย์ซึ่งต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปัญหาข้อกฎหมายเหล่านี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195,225